ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาเพชร ที่ไม่ใช่แค่ 4’C

ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาเพชร ที่ไม่ใช่แค่ 4’C

4’C เป็นปัจจัยพื้นฐานที่กำหนดความงามและราคาของเพชร แต่นอกเหนือจาก 4’C แล้วยังมีอีกหลายปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดราคาของเพชร จะมีอะไรบ้างนั้นต้องมาดูกัน

“เพชร” อัญมณีเลอค่า ที่ใคร ๆ ต่างก็อยากมีไว้ในครอบครอง แต่การซื้อเพชรแตกต่างจากการซื้อทองที่มีปัจจัยในการกำหนดราคาจำนวนมาก ซึ่งนอกเหนือจากมาตรฐาน 4’C ที่จะต้องดูทั้ง กะรัต (Carat) สี (Color) ความสะอาด (Clarity) และการเจียระไน (Cut) แต่ยังมีอีก 5 ปัจจัยดังนี้ ที่เป็นตัวกำหนดราคาของเพชรด้วยเช่นกัน

 

1. สถาบันที่ออกใบ Certification

ปัจจุบันมีสถาบันที่รับรองเพชรจากหลากหลายสถาบัน ซึ่งแต่ละสถาบันก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกันไป ทำให้เพชรที่รับรองโดยสถาบันที่ได้รับการยอมรับว่ามีความน่าเชื่อถือ หรือมีชื่อเสียงเรื่องมาตรฐานจึงมีราคาสูงกว่าเพชรที่ได้ใบเซอร์ฯ จากสถาบันอื่น ๆ ซึ่งสถาบันที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในระดับต้น ๆ มีดังนี้

  • สถาบัน Gemological Institute of America หรือ GIA จากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับสูงสุด และได้รับความนิยมมากที่สุด จึงทำให้เพชรที่ได้รับการรับรองจาก GIA ได้รับความนิยม และมีการซื้อขายกันมากที่สุด สำหรับใบเซอร์ฯ ของ GIA จะมีทั้งแบบย่อย และแบบเต็ม ซึ่งแบบย่อยจะออกให้สำหรับเพชรที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 1 กะรัต และแบบเต็มจะออกให้สำหรับเพชรที่มีน้ำหนัก 1 กะรัตขึ้นไป 
  • สถาบัน HRD Antwerp หรือ HRD จากประเทศเบลเยียม เป็นสถาบันที่ไม่มีสำนักงานสาขา และเน้นการออกใบเซอร์ฯ ให้แก่เพชรที่มีขนาด 1 กะรัตขึ้นไป
  • International Gemological Institute หรือ IGI เป็นสถาบันที่มีสาขามากที่สุด ซึ่งได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่ต้องการทราบเกรดของเพชร แต่ไม่ได้รับความนิยมในกลุ่มที่ต้องการซื้อเก็บในเชิงธุรกิจเท่าที่ควร 

การซื้อเพชรที่มีใบเซอร์ฯ รับรอง เป็นการการันตีว่าเราได้เพชรแท้ที่เกิดจากธรรมชาติ ไม่ใช่เพชรสังเคราะห์ สามารถตรวจสอบได้ และสามารถนำไปเปรียบเทียบกับเพชรเม็ดอื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ เพชรที่มีคุณภาพสูงมักจะมีใบเซอร์ฯ รับประกันคุณภาพ แตกต่างจากเพชรคุณภาพกลาง ๆ ที่มักจะไม่มีใบเซอร์ฯ นั่นเอง

 

2. วันที่ซื้อ

สิ่งที่มือใหม่ต้องรู้คือ ราคาเพชรของแต่ละวันไม่เหมือนกัน เพราะวันที่ซื้อเพชรจะเป็นตัวบอกว่าใน ‘วันที่’ ที่ซื้อเพชรไปนั้นมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์อะไรที่ส่งผลต่อราคาเพชรหรือไม่ เช่น ช่วงเวลาที่ราคาเพชรสูงกว่าช่วงอื่น ๆ หรือมีสถานการณ์ใด ๆ ที่ทำให้ราคาเพชรตกต่ำ เมื่อมองย้อนกลับไปก็จะทำให้สามารถทราบถึงปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อราคาซื้อขายเพชรในช่วงเวลานั้นได้นั่นเอง 

 

3. ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

อีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อราคาเพชร ไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ตาม ก็คือ ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า “ช่วงนี้ค่าเงินบาทแข็ง ดอลลาร์อ่อน แล้วได้เพชรราคาดี ราคาถูก” เป็นเรื่องจริงที่คนซื้อเพชรต้องรู้ และยิ่งหากว่าเราซื้อเพชรเพื่อการลงทุนก็ยิ่งต้องกะราคาให้ถูกช่วงถึงจะขายได้กำไรงาม 

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะราคาเพชรทั่วโลกถูกกำหนดด้วย Rapaport หรือ ตารางราคาเพชรที่ถูกกำหนดมาเป็นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น หากว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐถูก การซื้อเพชรในประเทศไทยก็อาจจะได้ราคาที่ต่ำลงกว่าปกตินั่นเอง

ตัวอย่างเช่น เพชร 2 กะรัต น้ำ 99 IF ราคาอยู่ที่กะรัตละ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพชรเม็ดนี้จึงมีราคากลางอยู่ที่ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ

วันนี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 33 บาท คิดเป็นเงินไทยจะอยู่ที่ 33 x 40,000 = 1,320,000 บาท แต่ถ้าวันพรุ่งนี้ค่าเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐลดลงเหลือ 30 บาท คิดเป็นเงินไทยจะอยู่ที่ 30 x 40,000 = 1,200,000 บาท ราคาลดลงไปถึง 120,000 บาท และถ้าเป็นเพชรเม็ดที่ใหญ่ขึ้น ก็จะยิ่งมีความแตกต่างด้านราคามากเท่านั้น หากเมื่อเงินบาทปรับตัวขึ้นหรือลดลง

 

4. ระดับฟลูออเรสเซนซ์ของเพชร

บางคนอาจจะงงหรือสงสัยว่าระดับฟลูออเรสเซนซ์คืออะไร แตกต่างจากความสะอาดหรือไม่?

ระดับฟลูออเรสเซนซ์ในเพชร (Diamond Fluorescence) ก็คือ การเรืองแสงของเพชรใต้แสงอัลตราไวโอเลต หรือยูวี ซึ่งสถาบัน GIA ได้ระบุมาตรฐานของการเรืองแสงของเพชรเป็น 5 ระดับ คือ None, Faint, Medium, Strong และ Very Strong โดยระดับ None จะเป็นระดับที่แทบจะไม่มีการเรืองแสงหรือถ้ามีก็อยู่ในระดับจาง ๆ ส่วนระดับ Faint และ Medium จะมีการเรืองแสงที่ระดับปานกลาง ส่วน Strong และ Very Strong จะเป็นการเรืองแสงในระดับสูงนั่นเอง 

ระดับฟลูออเรสเซนซ์ส่งผลต่อเพชรในแง่ของความใส กล่าวคือ ยิ่งมีระดับฟลูออเรสเซนซ์สูงก็จะยิ่งเพิ่มความขาว จึงลดความใสและประกายระยิบระยับอันเป็นเสน่ห์ของเพชรลง ทำให้เพชรที่มีฟลูออเรสเซนซ์ในระดับสูงมีราคาถูกลงตามไปด้วย  

 

5. ขนาดของก้นเพชร

อีกสิ่งหนึ่งที่กำหนดราคาของเพชรก็คือ ก้นเพชร หรือที่เรียกกันว่า Culet ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ด้านล่างที่สุดของเพชร ซึ่งเป็นจุดที่ควรมีพื้นที่หน้าตัดที่เล็กมาก หรือไม่มีเหลี่ยม Culet เลยก็ยิ่งดี ซึ่งเมื่อมองจากหน้าเพชร ควรจะมองเห็นเป็นจุดที่เล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยจะแบ่งเป็น No Culet Point, Very Small, Small, Medium, Large และ Very Large ซึ่งเพชรมีเหลี่ยม Culet น้อยหรือไม่มีเลย ก็จะมีราคาที่สูงกว่าเพชรที่มีก้นเพชรขนาดใหญ่กว่านั่นเอง 

 

นอกจาก 5 ปัจจัยนี้แล้ว รูปทรงของเพชรก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาเพชรแตกต่างกัน โดยเพชรทรงกลมจะมีราคาสูงที่สุด ส่วนเพชรทรงแฟนซีก็จะแบ่งเป็นกลุ่มทรงกลมกับทรงเหลี่ยม ซึ่งกลุ่มทรงกลม อย่างทรงหยดน้ำ หัวใจ ก็จะมีราคาที่สูงกว่ากลุ่มทรงเหลี่ยม อย่างทรง Princess  ทรง Emerald ทรง Cushion และทรง Radiant  


ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นตัวกำหนดราคาที่สูงหรือต่ำของเพชร นอกเหนือจากมาตรฐาน 4’C ที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว หากซื้อเพชรครั้งต่อไป อย่าลืมนำปัจจัยเหล่านี้ประกอบ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น แต่หากว่าใครยังไม่แน่ใจ สามารถมาปรึกษากับ Marry Me Diamonds ได้เช่นเดียวกัน

Hit enter to search or ESC to close