แหวนเพชร กลายมาเป็นตัวแทนความรักได้อย่างไร?

แหวนเพชร กลายมาเป็นตัวแทนความรักได้อย่างไร?

ตำนานที่มาของแหวนตัวแทนแห่งความรัก จากแหวนหนังสัตว์สู่แหวนเพชร เครื่องหมายอันเป็นนิรันดร์ของคู่บ่าวสาวที่จะครองรักกันตราบนานเท่านาน

“แหวนเพชร” ตัวแทนของรักนิรันดร์ระหว่างคู่รักที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะรักและดูแลกันจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ด้วยความสวยงามเจิดจรัสที่มาพร้อมกับความแข็งแกร่ง สื่อความหมายถึงความรักที่สวยงาม มั่นคง ยั่งยืน ไม่แปรผันไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย ทำให้เพชรได้ถูกนำมาประดับตกแต่งบนแหวนที่ใช้ในพิธีแต่งงานของคู่รักในปัจจุบัน วันนี้ Mary Me Diamonds จะพาทุกคนย้อนอดีตไปสู่เรื่องราวความเป็นมาของแหวนและเพชรแต่งงานตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน 

 

วงแหวนแห่งความรัก นิรันดร์รักของชาวอียิปต์โบราณ

ความรักโรแมนติกกับแหวนอยู่คู่วัฒนธรรมมานาน แต่คุณรู้ไหมว่าจุดเริ่มต้นนั้นมีมาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณเลยทีเดียว โดยชาวอียิปต์เชื่อว่า สัญลักษณ์วงกลมหรือวงแหวนมีความหมายถึงความไม่มีที่สิ้นสุด การให้แหวนแทนใจจึงเปรียบดั่งคำมั่นสัญญาว่ารักนี้จะคงอยู่ตราบชั่วฟ้าดินสลายนั่นเอง แหวนในห้วงเวลานี้ไม่ได้เป็นแหวนเพชรหรือเครื่องประดับที่มีมูลค่าดังเช่นในยุคสมัยต่อ ๆ มา แต่เป็นแหวนที่ตัวเรือนทำมาจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้จากพืชและสัตว์ อย่างต้นกกทอ และหนังสัตว์

 

ต่อมาเมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชได้ขยายอาณาจักรยึดครองพื้นที่ จากทั้งในเอเชียน้อย เอเชียกลาง ไล่มาจนถึงอียิปต์ จึงได้นำเอาความเชื่อเรื่องวงแหวนแห่งรักไปเผยแพร่ในยุโรป โดยตัวแหวนยังคงทำมาจากวัสดุธรรมชาติ ทั้งจากหนังสัตว์ กระดูกสัตว์ และป่าน และเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนกระทั่งยุครุ่งเรืองของอาณาจักรโรมัน

 

Vena Amoris หลอดเลือดดำแห่งความรัก

ไม่เพียงแค่แหวนที่แทนรักนิรันทร์ แต่นิ้วที่ใส่แหวนก็มีส่วนสำคัญที่ส่งตรงถึงใจเช่นเดียวกัน

 

ชาวโรมันโบราณไม่เพียงแต่พัฒนาแหวนแห่งความรักนิรันดร์ให้แข็งแรงทนทานยิ่งขึ้น ด้วยการใช้โลหะ อย่างทอง มาผลิตขึ้นเป็นแหวนแต่งงาน แต่ยังสร้างความเชื่อที่ว่า “แหวนแต่งงานหรือแหวนหมั้นจะต้องใส่ที่นิ้วนางข้างซ้ายเท่านั้น” เพราะเชื่อว่าเป็นนิ้วที่มีหลอดเลือดดำเชื่อมไปถึงหัวใจ ซึ่งแม้ต่อมาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะระบุว่าไม่เป็นความจริง แต่เราก็ยังคงใส่แหวนแต่งงานที่นิ้วนางข้างซ้ายอยู่ดี 

 

แม้แหวนหมั้นในยุคนั้นจะทำขึ้นจากโลหะที่มีความแข็งแกร่ง แต่ดีไซน์ก็ไม่ได้ดูดุดัน และยังสวยงามแบบเรียบง่าย โดยดีไซน์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดของบรรดาคู่รักคือการทำตัวแหวนเป็นรูปมือประสานกัน หรือที่เรียกว่า “Fede Ring” จากนั้นก็เปลี่ยนไปเป็นใบหน้าของคู่รักแทน

 

Mary of Burgundy หญิงสาวคนแรกที่ถูกขอแต่งงานด้วยแหวนเพชร

ความร่ำรวยของวงศ์ตระกูล Mary of Burgundy บุตรสาวคนเดียวของชาร์ลส์เดอะโบลด์ ดยุกแห่งเบอร์กันดี ทำให้สตรีชั้นสูงของยุโรปคนนี้เป็นที่หมายตาของกษัตริย์และเจ้าชายต่างแคว้นมากมายตั้งแต่อายุได้เพียง 5 พรรษา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วแมรี่ได้เลือกสมรสกับอาร์ชดยุกแม็กซิมิเลียนแห่งออสเตรีย (Archduke Maximilian of Austria) ซึ่งก็คือจักรพรรดิแม็กซิมิเลียนที่ 1 ในเวลาต่อมา และชายคนนี้นี่เองที่ได้นำเพชรน้ำงามมาประดับตัวเรือนแหวนไว้เป็นแหวนหมั้นแทนใจว่าที่พระชายา และว่าที่พระราชินีองค์ต่อไป

 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้แหวนเพชรกลายเป็นเครื่องยกหน้าชูตาและเป็นเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงในยุโรปในขณะนั้น ทว่าก็ยังไม่ได้รับความนิยมในหมู่คนทั่วไป แต่ยังคงนิยมการมอบแหวนหมั้นที่มีลวดลายที่เรียบง่าย หรือที่เรียกกันว่า “แหวนโพซี่ย์ (Posey Ring)” ที่นอกจากลวดลายแล้วยังสามารถสลักข้อความลงบนแหวนเพื่อมอบให้แก่กันได้อีกด้วย

 

ในห้วงเวลาดังกล่าว นอกจากแหวนโพซี่ย์แล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่นิยมให้แหวนกล (Gimmel Ring) ในการหมั้นหมาย ทำโดยช่างทองที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถนำแหวนสองวงมารวมกันเป็นวงเดียวกันได้ พร้อมทั้งแกะสลักลวดลายที่มีความหมายอันลึกซึ้งและลงยาเพื่อแต่งแต้มสีสันให้กับตัวเรือน

 

จนกระทั่งในยุควิคตอเรียน “เพชร” ได้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เมื่อมีการขุดพบเหมืองเพชรในแอฟริกา ทำให้เพชรกลายเป็นอัญมณีที่หาได้ง่ายในหมู่คนมีเงินและผู้ดีในยุโรปมากยิ่งขึ้น ประกอบกับมีการนำเพชรมาเจียระไนให้มีความสวยงาม เมื่อนำมาส่องกับแสงสว่างก็จะส่องแสงแวววาวเล่นกับไฟเป็นประกายวิบวับ จึงมีการนำเพชรที่เจียระไนแล้วมาประดับบนตัวเรือนที่ทำมาจากทองหรือแพลตตินัม แต่ก็ยังคงลวดลายดอกไม้ที่ตัวเรือนเช่นเดียวกับแหวนโพซี่ย์นั่นเอง

 

เพชร อมตะแห่งรัก

เมื่อโลกเข้าสู่ภาวะสงคราม ทุกประเทศทั่วโลกต่างบอบช้ำจากการทำสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 “เพชร” ที่เคยเป็นตัวแทนความรักถูกลืมเลือนไปอีกครั้ง และถูกแทนที่ด้วยการขอแต่งงานด้วยของที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต แม้แต่เครื่องซักผ้าก็ยังถูกเรียกร้องให้เป็นตัวแทนของความรักมากกว่าเพชร 

 

ด้วยเหตุนี้ “De Beers” ผู้ค้าเพชรรายใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงคิดแผนการตลาดที่เปลี่ยน “แหวนเพชร” เป็นเพื่อนแท้ของหญิงสาว และเป็นตัวแทนของความอมตะรักนิรันดร์ หรือ "A Diamond is Forever" ไม่เพียงแค่การโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังส่งแหวนเพชรให้ดาราฮอลลีวูดสวมใส่ แหวนเพชรจึงมีปรากฏในเห็นอยู่เสมอทั้งในจอทีวีและในชีวิตประจำวัน

 

ไม่เพียงเท่านี้ De Beers ยังตอกย้ำแคมเปญให้เพชรกลายเป็นสัญลักษณ์ของความรักนิรันดร์ที่ใช้ในการหมั้นหมายด้วยการส่งเสริมให้ว่าที่เจ้าบ่าวเลือกแหวนประดับเพชรในการขอแต่งงาน ภายใต้คำโฆษณา “How can you make two months’ salary last forever?” ซึ่งมีความหมายเป็นนัยให้คุณผู้ชายลงทุนลงแรงซื้อแหวนเพชรเพื่อพิสูจน์รักแท้นั่นเอง

 

นับตั้งแต่นั้นมา แหวนเพชรเป็นแหวนที่ได้รับความนิยมในการหมั้นหมายและแต่งงาน ความนิยมนี้เดินทางจากประเทศฝั่งตะวันตกมายังประเทศฝั่งตะวันออก มีการออกแบบแหวนเพชรให้มีความหมายที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น เพชรล้อมตัวแหวนหมายถึงรักที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพชรสามเม็ดเป็นตัวแทนของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และเพชรเม็ดเดียวเป็นตัวแทนของรักเดียวในชีวิต 

 

ปัจจุบันเพชรจึงเป็นสัญลักษณ์ของอมตะแห่งรัก เป็นความทุ่มเทของชายหนุ่มต่อหญิงสาวอันเป็นที่รักที่จะได้สวมใส่เครื่องประดับที่สวยงาม ส่งเสริมบุคลิกภาพ และขับเสน่ห์ จึงมีชายหนุ่มมากมายที่ขวนขวายหาเพชรที่น้ำงามที่สุดมาตกแต่งบนตัวเรือนให้มีความสวยงาม เพื่อมอบให้แก่หญิงสาว เป็นตัวแทนคำมั่นสัญญาในรักที่จะมีให้แก่กันไปชั่วนิรันดร์

Hit enter to search or ESC to close